web analytics
ประชาสัมพันธ์

เวียงท่ากาน..เมืองโบราณพันปี มรดกล้ำค่าแห่งที่ราบสันป่าตอง เชียงใหม่

เวียงท่ากาน

เวียงท่ากาน นามนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น บางท่านอาจจะคุ้นเคยกับเวียงกุมกามซึ่งเป็นเมืองเก่าของเมืองเชียงใหม่ แต่เวียงท่ากานที่ค้นพบนี้เก่าแก่กว่าเวียงกุมกามมากทีเดียว

เวียงท่ากาน เป็นเมืองโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเมืองหน้าด่าน ของอาณาจักรหริภุญชัย หรือลำพูนนั่นเอง มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด กว้าง ๕๐๐ x ๗๐๐ เมตร ตั้งอยู่ที่ บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ที่มาของนาม “ท่ากาน”

มีคำบอกเล่าจากผู้รู้ท้องถิ่นว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอาทิตยราชโปรดให้สร้างปราสาทเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญไชย มีกาเผือกตัวหนึ่งบินมาโฉบลงที่พระเศียรของพระองค์ จึงรับสั่งให้ไล่กาไป กาได้บินมาถึงบ้านแห่งนี้และจะลงเกาะ ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีตามความเชื่อแต่โบราณ จึงพากันส่งเสียงไล่ว่า “ต๊ะก๋า” ทำให้เป็นที่มาของชื่อ “บ้านต๊ะก๋า”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เจ้าอาวาสวัดบ้านต๊ะก๋าเห็นว่าคำนี้เป็นภาษาพูด จึงเปลี่ยนให้เป็นภาษาเขียนว่า “ท่ากาน” อย่างไรก็ดี ชื่อ “ท่ากาน” ปรากฏในเอกสารและตำนานหลายฉบับ อาทิ ตำนานมูลศาสนา พงศาวดารโยนก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่เรียกกว่า “พันนาทะการ” เช่น เมื่อครั้งพญามังราย (พ.ศ. ๑๘๓๙ – ๑๘๕๕) โปรดตั้งเมืองเชียงใหม่ แล้วให้นำต้นโพธิ์ที่ได้มาจากลังกา ไปปลูกตามหัวเมืองต่าง ๆ นั้น มีชื่อเมืองพันนาทะการด้วย

ต่อมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔ – ๒๐๓๐) ปรากฏชื่อเมืองนี้อีกว่าเป็นที่นำเชลยชาวเงี้ยวมาอยู่และอีกครั้งเมื่อเจ้าเมืองเชียงทองและพระยากายเงี้ยวนำข้าไพร่ ชาย-หญิง และช้างม้า ถวายแก่พระเมืองแก้ว (พ.ศ. ๒๐๓๘ – ๒๐๖๘) พระองค์โปรดให้แบ่งข้าไพร่ไปไว้ที่ “พันนาทะกาน” ชื่อเมืองนี้หายไปหลังจากเชียงใหม่เสียเมืองแก่พม่า ในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าสำเร็จ ได้มีการนำชาวไทยยองเข้าไปอาศัยอยู่ตราบจนปัจจุบัน

โบราณคดีจากหริภุญไชยสู่ล้านนา
จากการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ได้พบโบราณวัตถุศิลปกรรมแบบหริภุญไชยจำนวนมาก เช่น พระพิมพ์ดินเผาแบบต่าง ๆ พระพุทธรูปดินเผา เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า ชุมชนแห่งนี้นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ ส่วนโบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่กำหนดอายุสมัยระหว่างพุทธศตวรรษที่
๒๐ – ๒๒ แสดงถึงการอยู่อาศัยสืบเนื่องกันมาโดยตลอด แม้ในสมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ภายหลังที่เชียงใหม่พ่ายแพ้แก่พระเจ้าบุเรงนอง ในปี พ.ศ.๒๑๐๑

โบราณสถานภายในเวียงท่ากานที่สำคัญ
๑. วัดกลางเมือง
๒. วัดอุโบสถ
๓. วัดต้นโพธิ์
๔. วัดหัวข่วง
๕. วัดพระเจ้าก่ำ
๖. วัดต้นกอก
๗. วัดหนองหล่ม
๘. วัดน้อย
๙. วัดป่าเป้า
๑๐. วัดป่าไผ่รวก
๑๑. กู่ไม้แดง

โบราณวัตถุที่ค้นพบที่เวียงท่ากานแห่งนี้มีมากมาย พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์มีพระดำริที่จะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากานขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมโบราณวัตถุอันมีค่าเหล่านี้และเปิดให้ประชาชนเข้าชม ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เวียงท่ากาน … เมืองโบราณพันปี มรดกล้ำค่าแห่งที่ราบสันป่าตอง เชียงใหม่ แห่งนี้ กำลังรอรับการมาเยือนจากท่านสักครั้ง หากท่านมีโอกาสไปเยือนเชียงใหม่

เชื่อมต่อไปยัง ลิงค์ต้นฉบับ

Facebook Comments
แบ่งปันลิงค์นี้ :